ผิวหนังเมื่อได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตมากเกินไป หรือเป็นเวลานาน จะทำให้ผิวหนังไหม้ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่ต้องอยู่กลางแสงแดดเป็นเวลานาน เช่น คนทำสวน นักกีฬา ผู้ที่ชอบอาบแดด เป็นต้น ผู้ที่เกิดอาการผิวไหม้จากแสงแดด อาจจะไม่ได้ป้องกันผิวจากแสงแดด จึงทำให้ผิวไหม้ได้ และมักเกิดกับผู้ที่มีผิวขาวมากกว่าผิวคล้ำ ควรจะทาครีมกันแดด สวมหมวก สวมแว่นตากันแดด
อาการผิวหนังไหม้เนื่องจากแสงแดด ส่วนใหญ่มักจะมีอาการดังนี้
- ผิวบริเวณที่ถูกแสงแดดไหม้นั้น หากจับจะรู้สึกอุ่นและนิ่ม
- ระยะต่อมาผิวหนังจะเริ่มแดงระเรื่อและแสบร้อน
- มีอาการไหม้ คัน และผิวลอกบริเวณผิวหนังที่เกิดการไหม้ ทั้งบริเวณตา ปาก และผิวหนัง
- บางรายอาจมีการวิงเวียน หน้ามืด ผิวหนังพุพอง และเป็นไข้
- การไหม้ของผิวหนัง อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังตามมาได้
โภชนาการและการบำบัดแบบธรรมชาติ
- เลือกบริโภคผักที่มีสีเหลือง เช่น แครอท มะม่วง ผักใบเขียวที่มีสารเบต้าแคโรทีน เพื่อป้องกันการทำลายผิวจากแสงแดด
- กินผลไม้ที่มีน้ำมาก เช่น แตงโม แอปเปิล องุ่น มะเขือเทศ เบอร์รี่ ส้ม ช่วยลดอาการไหม้และช่วยสร้างคอลลาเจนให้แก่ผิว
- ดื่มน้ำว่านหางจระเข้ หรือใช้วุ้นของว่านหางจระเข้ทาบริเวณรอยไหม้ เพื่อบรรเทาอาการไหม้ของผิว
- กินอาหารที่อุดมด้วยวิตามินเอ เพื่อช่วยการสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อของเซลล์ผิว
- อาหารจำพวก ไก่ เป็ด ปลา เมล็ดถั่ว ธัญพืช เป็นอาหารที่อุดมด้วยวิตามินบี ช่วยซ่อมแซมผิวหนังที่เสียหายได้ดีเช่นกัน
- หลังจากที่ผิวไหม้ควรใช้น้ำเย็นประคบ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง และหลีกเลี่ยงแสงแดดจากที่ผิวไหม้
- ดื่มน้ำสะอาดวันละ 8-10 แก้ว เพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้นตลอดเวลา
- กินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ และรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
วิตามินเสริม
- วิตามินเอ ควรกินวันละ 8,000-10,000 ไอยู เพื่อรักษาอาการไหม้ของผิว และป้องกันการก่อตัวของมะเร็งผิวหนัง
- เบต้าแคโรทีน มีคุณสมบัติช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง ควรเลือกกิน 50,000-100,000 ไอยูต่อวัน
- วิตามินซี ควรกิน 1-2 กรัมต่อวัน เพื่อช่วยรักษาโครงสร้างคอลลาเจนให้แก่ผิว
- วิตามินอี ช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้นตลอดเวลา ป้องกันการถูกทำลายของผิว ควรกินวันละ 400 ไอยูต่อวัน
*หมายเหตุ* การกินวิตามินควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะอาจมีผลข้างเคียง
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
- ลดการดื่มชา กาแฟ แอลกอฮอล์ เพื่อช่วยให้เซลล์ผิวหนังซ่อมแซมตัวเองได้ดีขึ้น
- หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารปิ้งย่างไหม้ๆ อาหารประเภทบาบีคิว เพื่อลดความเสี่ยงต่อการก่อตัวของอนุมูลอิสะ
ข้อแนะนำ
- ลดการสูบบุหรี่เพราะจะทำให้สภาพผิวหนังแย่ลง
- ไม่ควรตากแดดในช่วงระหว่างเวลา 10 โมงเช้า ถึง บ่าย 4 โมงเย็นเย็น เนื่องจากแสงอัลตราไวโอเลตรุนแรง
- หลังจากที่ผิวไหม้จากแสงแดด ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดไม่ให้ถูกผิวบริเวณดังกล่าว และไม่ควรใช้พลาสเตอร์ยาปิดแผล
- ทาครีมกันแดดทุกครั้งเมื่อต้องออกแสงแดดกลางแจ้ง
- หากมีอาการแทรกซ้อน เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน อาเจียน เป็นไข้ ควรพบแพทย์